อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
วิสัยทัศน์/พันธกิจ
สภาพทั่วไปของเทศบาลเมืองท่าข้าม
     เทศบาลเมืองท่าข้าม มีพื้นที่ 14.10 ตารางกิโลเมตร ลักษณะพื้นที่ตอนใต้เป็นที่สูง ตอนเหนือเป็นที่ราบตั้งอยู่ริมแม่น้ำตาปี มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อตำบลวัดประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทิศตะวันตก ติดต่อตำบลพุนพิน และตำบลท่าข้าม มีประชากร 18,339 คน ชาย 8,879 คน หญิง 9,460 คน มีบ้าน 9,134 หลังคาเรือน ( ข้อมูล ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2565) ประชากรในเขตเทศบาล ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง และเกษตรกรรม
      ส่วนที่มีความหนาแน่นของอาคารมากที่สุดอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำตาปีต่อเนื่องไปตามเส้นทางสายหลัก ของชุมชน โดยเฉพาะบริเวณซึ่งกำหนดไว้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย จะมีการขออนุญาตก่อสร้างอาคารมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 68 ของจำนวนพื้นที่การขออนุญาตก่อสร้างอาคาร รองลงมาจะเป็นบริเวณพาณิชยกรรมที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก พื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัย หนาแน่นปานกลาง อาคารที่เพิ่มขึ้นใหม่ในพื้นที่ต่าง ๆ จะเพิ่มมากตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4153 ถนนธราธิบดี และทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 401 เทศบาลเมืองท่าข้าม เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนพุนพิน ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่แห่งที่สองของจังหวัด รองจากชุมชนเมืองสุราษฎร์ธานี โดยเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอุตสาหกรรมสำหรับประชาชนซึ่งอาศัย อยู่ตามอำเภอต่าง ๆ
     ในอดีตเส้นทางคมนาคมทางน้ำมีความสำคัญมาก ปัจจุบันได้ลดความสำคัญลง แต่พื้นที่ของเทศบาลยังมีทางรถไฟ รถยนต์ และเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างสนามบินกับตัวจังหวัดผ่านในเขตเทศบาล ส่วนของการคมนาคม เทศบาลเมืองท่าข้าม เป็นศูนย์กลางคมนาคมทางบกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และภาคใต้ เป็นที่ตั้งสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานีอยู่ในเขตเทศบาล และมีทางหลวงแผ่นดินสายสำคัญหลายสาย ผ่านในพื้นที่ชุมชนพุนพิน ดังนี้
     1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 เป็นเส้นทางสายสำคัญในการติดต่อกับภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศผ่านเขตผังเมืองรวมทางด้านตะวันตกในแนวเหนือ - ใต้เชื่อมระหว่างภาคกลาง - ชุมพร - สุราษฎร์ธานี - นครศรีธรรมราช – หาดใหญ่
     2. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4153 ( ถนนจุลจอมเกล้า ) เชื่อมระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 ที่สามแยกหนองขรี กับ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ตัดผ่านพื้นที่ชุมชนพุนพินในแนวตะวันออกและตะวันตก
     3. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 เชื่อมระหว่างอำเภอพุนพิน - อำเภอเมือง - อำเภอกาญจนดิษฐ์ - นครศรีธรรมราช
     4. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4112 เชื่อมระหว่างอำเภอพุนพิน – อำเภอท่าฉาง

ข้อมูลประชากร
สถิติจำนวนประชากร พ.ศ.2565
จำนวนประชากรทั้งสิ้น 18,339 คน (ชาย 8,879 คน หญิง 9,460 คน)
จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 14,357 คน (ชาย 6,833 คน หญิง 7,524 คน)
จำนวนผู้อาศัยทั้งสิ้น 13,598 คน (ชาย 6,676 คน หญิง 6,922 คน)
จำนวนเจ้าบ้านทั้งสิ้น 4,500 คน (ชาย 2,084 คน หญิง 2,416 คน)
จำนวนหัวหน้าครอบครัวทั้งสิ้น 29 คน (ชาย 18 คน หญิง 11 คน)
( ข้อมูลประชากร ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2565 )
       เทศบาลเมืองท่าข้าม ได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาลท่าข้าม อำเภอพุนพิน เป็นเทศบาลตำบล ท่าข้าม เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2529 ปรากฏตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลท่าข้าม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 59 ลงวันที่ 14 เมษายน 2529 และเปิดทำการเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2529 โดยใช้อาคารห้องประชุมสุขาภิบาลท่าข้ามเป็น สำนักงานชั่วคราว นาย นิพนธ์ บุญญภัทโร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีขณะนั้นเป็นประธานพิธีเปิด เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2529

      ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบลท่าข้าม เป็นเทศบาลเมืองท่าข้าม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 117 ตอนที่ 119 ก ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2543 ส่งผลให้การเลือกตั้งของเทศบาลต่อไป จะต้องเป็นการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเทศบาล 2496 ( แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 11 พ . ศ . 2543)
วิสัยทัศน์

ท่าข้ามเมืองน่าอยู่ คุณภาพชีวิตดี
ชุมชนเข้มแข็ง ภายใต้หลักธรรมาภิบาล

พันธกิจ

1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคให้ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง
2.ส่งเสริมการพัฒนาด้านอาชีพ ส่งเสริมการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ ดีแก่ประชาชน
3.สร้างความเข้มแข็ง และรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน
4.ส่งเสริมด้านกีฬาและนันทนาการ
5.ส่งเสริม สนับสนุนการบริการด้านสาธารณสุข
6.ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาให้ได้มาตรฐาน
7.ส่งเสริมประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
8.ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน
9.ส่งเสริมประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทศบาลเมืองท่าข้าม
10.เทิดทูนสถาบันหลักของชาติและผู้ทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง

เป้าประสงค์

1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มาตรฐานรองรับการขยายตัวของชุมชน
2.พัฒนาผังเมืองรวมมีระบบรองรับการพัฒนาของชุมชน
3.ประชาชนได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพในครัวเรือนและกลุ่มอาชีพต่างๆ ส่งเสริมความรู้ด้าน เศรษฐกิจพอเพียง
4.สังคมมีความเข้มแข็ง ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
5.เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ประชาชนได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง ประชาชนมีคุณภาพชีวิต ที่ดีมากยิ่งขึ้น
6.ประชาชนได้รับการส่งเสริมพัฒนาด้านกีฬา การออกกำลังกายและนันทนาการ
7.ยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ประชาชนมีคุณธรรมจริยธรรม
8.ประชาชนมีส่วนร่วมในการการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น
9.ประชาชนมีสุขภาพอนามัยดีถ้วนหน้า และได้รับบริการด้านสาธารณสุขทั่วถึงเป็นธรรม
10.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและยกระดับการท่องเที่ยวในเขตเทศบาลเมืองท่าข้ามให้ได้มาตรฐาน
11.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
12.บริหารจัดการองค์กรให้ได้มาตรฐานตามหลักธรรมาภิบาล มีหลักการบริหารจัดการที่ดีในการบริหารงาน ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการบริหารงานของเทศบาลเมืองท่าข้ามเพิ่มมากขึ้น
13.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมตรวจสอบ ร่วมแก้ปัญหา ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่
14.ส่งเสริมการเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ และผู้ทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง